ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มช. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการอนุกรมวิธานและซีสเทมาติคส์ในประเทศไทย ครั้งที่ 9

ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการอนุกรมวิธานและซีสเทมาติคส์ในประเทศไทย ครั้งที่ 9 (The 9th Conference on Taxonomy and Systematics in Thailand : TST9 – Peak of the country, Peak of biodiversity) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้มีการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยทางอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ของสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ซึ่งจะก่อเกิดภาคีเครือข่ายวิชาการทางด้านอนุกรมวิธานและซีสเทมาติคส์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยการประชุมกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2562 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิธีเปิดการประชุม TST9 จัดขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม 2562 โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชล ผลารักษ์ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มช. กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดประชุม ภายในงานมีการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การบรรยายหัวข้อ “Diversity of pollinators and modes of pollination in some indigenous orchids of North-east India with special emphasis on the orchid taxa of Nagaland state” โดย Professor Dr. Sunil K. Chatuvedi, Department of Botany, Nagaland University, INDIA และหัวข้อ “The importance of plant taxonomy for restoring tropical forest ecosystems” โดย Dr. Stephen Elliott, Forest Restoration Research Unit, FORRU คณะวิทยาศาสตร์ มช. เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยายและแบบโปสเตอร์ในกลุ่มสาขาวิชาต่างๆ ได้แก่ สาขาพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ระบบนิเวศ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 308 คน จาก 45 สถาบัน ทั่วประเทศ

อนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ นับเป็นศาสตร์พื้นฐานด้านชีววิทยาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์และต่อยอดในการศึกษาสิ่งมีชีวิต ทั้งในกลุ่มจุลินทรีย์ พืช สัตว์ และการศึกษาเชิงระบบนิเวศ ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์ความรู้ที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ และเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นได้จากแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีองค์ประกอบของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพผนวกอยู่ด้วย อีกทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ก็จำเป็นที่จะต้องมีพื้นฐานทางอนุกรมวิธานที่มั่นคงเช่นกัน

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา, กิจกรรม, สังคม
คำค้น: , , , , , ,