ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง รับมอบถังหมักเชื้อจุลินทรีย์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช พร้อมเครื่องบรรจุหีบห่อผลิตผลแบบฟิล์มยืด ตามโครงการคุซะโนะเนะ จากรัฐบาลญี่ปุ่น

นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในการรับมอบถังหมักเชื้อจุลินทรีย์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช พร้อมด้วยเครื่องบรรจุหีบห่อผลิตผลแบบฟิล์มยืด จาก นายฮิโรชิ มัทสึโมะโตะ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น นครเชียงใหม่ ประจำประเทศไทย ตามโครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงของมนุษย์  หรือ โครงการคุซะโนะเนะ ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ด้วยเป้าหมายของมูลนิธิโครงการหลวง ที่มุ่งเน้นการผลิตพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรนำชีวภัณฑ์มาใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อความปลอดภัยต่อระบบนิเวศน์ โดยในปี 2558 ได้จัดตั้งโรงผลิตชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชขึ้น เพื่อผลิตชีวภัณฑ์และสารทดแทนสารเคมีเกษตร สนับสนุนแก่เกษตรกร ในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง นอกจากนี้ ยังจัดตั้งศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง เป็นสถานที่รับผลผลิตจากแปลงเกษตรกร มาตรวจสอบคุณภาพ บรรจุหีบห่อ และกระจายแก่ลูกค้ากลุ่มต่างๆ โดยมีการควบคุมกระบวนการผลิต การคัดบรรจุ จนถึงการขนส่ง อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล รัฐบาลญี่ปุ่น โดยโครงการคุซะโนะเนะได้เห็นถึงความสำคัญนี้ จึงสนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์จำเป็นในการปฏิบัติงานของโครงการหลวง ได้แก่ เครื่องบรรจุหีบห่อผลิตผลแบบฟิล์มยืด เพื่อใช้ในการบรรจุผลผลิตพร้อมขายของศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง และถังหมักเชื้อจุลินทรีย์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เพื่อใช้ในการผลิตชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืช

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดส่งครุภัณฑ์มาติดตั้งที่ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง ซึ่งโครงการหลวงได้นำมาใช้ในการห่อผลผลิต กลุ่มผักสด มิกซ์สลัด และฟักทองนึ่งสุก ส่งจำหน่ายในร้านโครงการหลวงสาขาต่างๆ สามารถลดภาระการว่าจ้างแรงงาน เพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติงานและความหลากหลายของรูปแบบการบรรจุได้มากขึ้น จากเดิมที่การบรรจุผลิตผลด้วยแรงงานคน สามารถบรรจุได้เพียง 3 ถาดต่อนาที แต่เมื่อใช้เครื่องบรรจุหีบห่อผลิตผลแบบฟิล์มยืด ทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 8 ถาดต่อนาที ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า นอกจากนี้ยังมีถังหมักเชื้อจุลินทรีย์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ซึ่งช่วยให้โรงชีวภัณฑ์ของโครงการหลวง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตชีวภัณฑ์ 3 ชนิด ได้แก่ พีพีบีเค33 พีพีบี10 และ พีพีบี15 จากเดิมที่เคยผลิตได้ 8 ลิตรต่อรอบการผลิต เพิ่มขึ้นเป็น 100 ลิตรต่อรอบการผลิต และยังช่วยลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต และสนองตอบความต้องการใช้สารชีวภัณฑ์ของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การตลาด, การเกษตร, กิจกรรม, สังคม, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจ
คำค้น: , , , , , , ,