รองนายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามและรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์ และผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 ผู้แทน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พร้อมมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้เข้มงวดดำเนินมาตรการในการรับมือสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันอย่างเต็มกำลังความสามารถ และได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์เครื่องมือ และอากาศยาน เข้าดับไฟ ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง และให้ดับไฟให้สนิท พร้อมเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการประทุของไฟขึ้นซ้ำในพื้นที่เดิม สั่งการไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ให้จับตากลุ่มเสี่ยง ที่มีพฤติกรรมการเผาป่า หรือหาของป่า ล่าสัตว์ สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า เช่น การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามแนวทาง คทช. หากพบว่ามีการเผาในพื้นที่ ให้ตัดสิทธิ์ทันที ให้ทุกหน่วยงานคุมเข้มและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีการเผาตลอดช่วงห้ามเผาตามที่จังหวัดกำหนด และเร่งเตรียมการรับมือการเผาสำหรับเกษตรกรหลังพ้นช่วงห้ามเผาด้วย สำหรับการจุดไฟเผาป่า ต้องหาตัวผู้กระทำผิดให้ได้ และให้เร่งส่งฟ้องดำเนินคดีโดยเร็ว พร้อมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแถลงข่าวการจับกุมและดำเนินคดี เพื่อเป็นการป้องปรามและเป็นตัวอย่างให้ประชาชนรับรู้ ให้จังหวัดดูแลสุขภาพประชาชนจากมลพิษหมอกควัน ส่งเสริมการจัด safe  zone ที่บ้าน เพื่อลดผลกระทบจากมลพิษ และเป็นไปตามแนวทางการเฝ้าระวังไวรัสโควิด-19

สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดน สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หยิบยกประเด็นการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน หารือกับประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชาใหม่ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และหากพบการเพิ่มขึ้นอย่างมากของจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน ให้ประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนอย่างใกล้ชิด ให้กองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดชายแดน เจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง หากมีความจำเป็นหรือมีการร้องขอความช่วยเหลือในการดับไฟ ให้พิจารณาช่วยเหลือตามความเหมาะสม และหลังสิ้นสุดสถานการณ์ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 ถอดบทเรียนหลังการปฏิบัติงาน หรือ After Action Review : AAR เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดและยั่งยืนต่อไป

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การเกษตร, นโยบายการเมือง, สังคม, สิ่งแวดล้อม, สุขภาพ, เศรษฐกิจ
คำค้น: , , , , , ,