สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำเตือนประชาชน แม้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดป่า แต่ต้องระมัดระวังอันตราย

นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง สถิติข้อมูลงานระบาดวิทยา กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือน 1 มกราคม – 7 สิงหาคม 2563  พบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ทั้งหมด 5 ราย พบที่ อำเภอไชยปราการ 2 ราย และอำเภอฝาง 3 ราย แต่ยังไม่มีรายผู้เสียชีวิต สำหรับเห็ดพิษที่บริโภคและเกิดปัญหาบ่อย ได้แก่ เห็ดระโงกหิน หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งจะมีพิษทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง แม้จะมีการทำให้สุกแล้วแต่ความเป็นพิษยังมีอยู่ ถ้าพบว่าหลังรับประทานเห็ดแล้วปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งในท้อง ให้รีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วล้วงคอเพื่อให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด และรีบพบแพทย์ทันที รวมถึงแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด

สำหรับวิธีการสังเกตเห็ดพิษด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบต่อกันมา ดังนี้ หากเห็ดชนิดนั้นขึ้นอยู่ใกล้

มูลสัตว์ มีสีน้ำตาลหรือสีสันฉูดฉาด หมวกเห็ดมีปุ่มปม มีวงแหวนใต้หมวก หรือเมื่อดอกแก่ มีกลิ่นเอียนหรือกลิ่นค่อนข้างแรง ก็ให้สันนิษฐานว่าจะเป็นเห็ดพิษ และไม่ควรเก็บมารับประทานโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้กล่าวย้ำเตือนประชาชน หากไม่แน่ใจว่าเห็ดที่เก็บมาสามารถรับประทานได้หรือไม่ หรือไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหารรับประทาน ควรเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า หรือเห็ดฟาง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053211048 ต่อ 110

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: สังคม, สุขภาพ
คำค้น: , ,