ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมหน่วยงานในพื้นที่เชียงใหม่ เร่งติดตามมาตรการแผนแก้ปัญหาหมอกควัน ด้านจังหวัดเชียงใหม่ เสนอปัญหาหมอกควัน เป็นวาระแห่งชาติ

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 พันโท เทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 และคณะ ร่วมประชุมหารือกับนายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พันเอก เกรียงศักดิ์ ปักคำไทย หัวหน้าส่วนปฏิบัติการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 และสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่จังหวัดภาคเหนือเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน เกิดฝุ่นควันกระจายเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ สุขภาพอนามัย และการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งบดบังทัศนียภาพที่สวยงามของจังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งสถานการณ์ไฟป่าจะเกิดขึ้นภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี และก่อนการเพาะปลูกครั้งต่อไป ซึ่งเกษตรกรชาวไร่จะเผาเพื่อกำจัดวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษหญ้า ใบไม้ รวมถึงขยะต่าง รวมถึงการเผาป่าเพื่อล่าสัตว์หรือเก็บของป่า ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเคยได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ และได้ติดตามพร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอเพื่อจะได้วางแผนบริหารจัดการแก้ไขในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เคยนำคณะผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียร่วมลงพื้นที่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์

พลเอกวิทวัส กล่าวต่อว่า การประชุมในวันนี้เป็นการติดตามความคืบหน้ามาตรการการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และในพื้นที่ภาคเหนือเป็นกรรมการ และยังได้มีการตั้งคณะทำงานศูนย์บัญชาการ ป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2564 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการพิเศษ) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และในพื้นที่ภาคเหนือเป็นคณะทำงาน

นอกจากนี้จังหวัดเชียงใหม่ยังได้ออกประกาศ เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ประกอบด้วย  ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการเผา และการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง กำหนดมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด โดยทั้งสองประกาศกำหนดให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยกำหนดเป็น 2 โซน ดังนี้

โซนใต้ ประกอบด้วย อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสารภี อำเภอหางดง อำเภอแม่ออน อำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่วาง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564

โซนเหนือ ประกอบด้วยอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอไชยปราการ อำเภอสะเมิง อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอกัลยาณีวัฒนา และอำเภอสันกำแพง สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2564

โดยในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทางการเกษตร เมื่อมีความจำเป็นต้องเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตร ให้ราษฎรขออนุญาตจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลงทะเบียนในระบบการจองการจัดการเชื้อเพลิงในเขตท้องที่นั้นๆ เพื่อแจ้งต่อนายอำเภอก่อนจะดำเนินการเผาทุกครั้ง พร้อมทั้งจัดทำแนวกันไฟและควบคุมไฟมิไห้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยให้ประสานกับหน่วยงานควบคุมไฟป่าที่ใกล้ที่สุดเพื่อจัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมการดำเนินการดังกล่าวด้วย หากราษฎรฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศ จะมีโทษความผิดตามมาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และประกาศ เรื่อง การห้ามเผาทุกชนิด ยกเว้นพื้นที่ตามแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพื่อกำชับให้ราษฎรดำเนินการตามประกาศของจังหวัดเชียงใหม่ข้างต้น

อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าว ยังมีปัญหาติดขัดบางประการ ดังนั้นในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ดังนี้ 1.กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าเป็นวาระแห่งชาติเพื่อจะได้มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานต่อเนื่องแต่ละปี 2.เสนอให้รัฐบาลไทยทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ปัญหาไฟป่า (MOU) กับประเทศเพื่อนบ้าน คือประเทศพม่า และประเทศลาว เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการระบุว่าจุดฮอตสปอตในจังหวัดเชียงใหม่มีประมาณพันกว่าจุด ในขณะที่จุดฮอตสปอตในประเทศเพื่อนบ้านมีถึง 6,000 จุดพลเอกวิทวัสกล่าว

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: นโยบายการเมือง, สังคม, สิ่งแวดล้อม, สุขภาพ
คำค้น: , , ,