เชียงใหม่ เพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมเปิดศูนย์แยกกักชุมชนรองรับการพักฟื้นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว

จังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มจำนวนเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนักในหลายโรงพยาบาล พร้อมเปิดศูนย์แยกกักชุมชนรองรับการพักฟื้นของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน

ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในระยะนี้จะอยู่ที่ 200 กว่าราย  ซึ่งเกิดจากการตรวจเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว  ขณะที่ปริมาณของเตียงรักษาผู้ป่วย ขณะนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) ในหลายโรงพยาบาลเครือข่าย  โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เปิดศูนย์แยกกักชุมชน หรือ Community Isolation (IC) ในแต่ละอำเภอ จำนวน 47 แห่ง รวมกว่า 1,400 เตียง  สำหรับใช้เป็นสถานพักฟื้นผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มผู้ที่ไม่มีอาการ ที่ผ่านการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้ว 10 วัน ก่อนที่จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้  ซึ่งจะทำให้มีเตียงในโรงพยาบาลรองรับผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น  ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในชุมชนอย่าได้กังวลใจ  เนื่องจากผู้ที่เข้าพักฟื้นในศูนย์กักกันชุมชน คือผู้ที่ได้รับการรักษามาแล้วและมีความปลอดภัยสูง

นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีสถานที่สำหรับรองรับการกักตัวในพื้นที่อื่นๆ  ทั้ง Local Quarantine และ Alternative Local Quarantine  เพื่อกักตัวผู้ที่ต้องเฝ้ารอดูอาการ  พร้อมเตรียมใช้ระบบ Home Isolation ในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้าย หากกรณีที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นแล้วจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ซึ่งจะใช้ดูแลผู้ป่วยทั้งกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) และผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) จะนำเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลักเท่านั้น

ด้านการตรวจหาเชื้อกลุ่มผู้เสี่ยงสูงและผู้สัมผัส จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยหากพบการระบาดกระจายออกไป และคาดว่าจะกลายเป็นคลัสเตอร์ จะมีทีมลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกทันที เพื่อคัดกรองและนำผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น  ซึ่งจะเป็นการลดการปนเปื้อนในชุมชนได้เป็นอย่างดี  ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของการระบาดในระยะหลังมานี้ พบว่าการสัมผัสในชุมชนและครอบครัวมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากการไม่เคร่งครัดในการกักตัว

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: สังคม, สุขภาพ