แถลงข่าวเตรียมจัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 สืบสานประเพณี ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 65 ณ. วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่

งานแถลงข่าวเตรียมจัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 สืบสานประเพณี ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ ให้คนรุ่นหลังได้เห็นประเพณี วัฒนธรรมอันล้ำค่าของบรรพชนในอดีต ที่หาดูและจับต้องได้ยาก นำโดย พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ พร้อมด้วยนายภพธร นิยมกูล หัวหน้างานส่งเสริมประเพณีศิลปวัฒนธรรม เทศบาลนครเชียงใหม่ , นางสาวกัญญ์สิริ ปินไชยพัฒน์ ผู้ช่วยอปุนายกฝ่ายบริหาร สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่,พ่อครูดิเรก สิทธิการ ครูภูมิปัญญาเครื่องเงิน และนายพงษ์ดนัย อะมัง ประธานจัดงาน ร่วมกันแถลงข่าว ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที 12 – 18 เมษายน 2564 ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19  ณ วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่
โดย พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ เปิดเผยว่า วัดศรีสุพรรณ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2043 ปัจจุบันอายุครบ 522 ปี  สร้างโดยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ครอง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” พร้อมพระราชมารดาเทวีเจ้า ซึ่งมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีคำสั่งให้มหาอำมาตย์ซื่อ หมื่นหลวงจ่าคำ นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ และสร้างมหาวิหาร สร้างบรมธาตุเจดีย์แล้วตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “ศรีสุพรรณอาราม” ต่อมา ปีพุทธศักราช 2045 พระเมืองแก้ว ได้นิมนต์ ให้มหาเถรญาณรัตน จากวัดหมื่นสาร มาอยู่เป็น อธิสังฆนายถ ในวัดนี้ ปีพุทธศักราช 2052 ให้นิมนต์พระสงฆ์ทั้งหลายมีสมเด็จมหาสามีติลสัทธรรมพิเจ้า วัดสวนดอกไม้ เป็นประธานผูกพัทธสีมา เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำและเจ้านางหมื่นชื่อเจ้าจันทระภัทราทั้งสองมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงถวายทานคน ไว้เป็นข้าวัด 20 ครอบครัว นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดศรีสุพรรณได้กลายเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในเชียงใหม่ ที่ได้ทำหน้าที่รักษาพระศาสนาไว้เมื่อถึงเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญต่าง ๆ และในสมัย พระเจ้ากาวิละ กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ได้ให้บรรดาพวกช่างต่าง ๆ แยกย้ายกันตั้งบ้านเรือนอยู่ประจำทางประตูด้านทิศใต้ของเมือง พวกที่ถนัดเครื่องเงินให้ไปอยู่ใกล้ ๆ วัดหมื่นสารบ้านวัวลายและวัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย จึงเป็นต้นกำเนิดของเครื่องเงินวัดหมื่นสารบ้านวัวลายและวัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลายจึงกลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน
ด้านนายภพธร นิยมกูล หัวหน้างานส่งเสริมประเพณีศิลปวัฒนธรรม เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ปีนี้เป็นโอกาสอันดีในวาระครบรอบ 522 ปีของ วัดศรีสุพรรณ เทศบาลนครเชียงใหม่ซึ่งมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ในการผลักดันให้นครเชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการบริหารภายใต้หลักธรรมาภิบาล จึงร่วมสนับสนุนการจัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 เพื่อให้เอกลักษณ์ของงานปี๋ใหม่เมืองยังคงอยู่สืบไปถึงลูกหลาน อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ซบเซาลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อน โดยหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ประชนชนในพื้นที่ และช่วยส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะเครื่องเงิน อันเป็นเอกลักษณ์ที่ขึ้นชื่อของชุมชนวัวลาย อีกทั้งผู้ที่มาเที่ยวงานจะได้ชมความงามของอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ อุโบสถเงินหลังแรกของโลก อีกด้วย
นางสาวกัญญ์สิริ ปินไชยพัฒน์ ผู้ช่วยอปุนายกฝ่ายบริหาร สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่
สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ มีภาระหน้าที่ในการ ส่งเสริม และสนับสนุน การประกอบ
วิสาหกิจและธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้กับสมาชิกของสมาคม และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว
อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่การท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว ของจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 ในครั้งนี้ เป็นการสืบสานประเพณี ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ อันดีงามให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป โดยอนุชนคนรุ่นหลังได้กระหนักและเห็นความสำคัญและคุณค่า ในประเพณี วัฒนธรรมล้านนา ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา
สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ขอร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรม “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้
สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” ที่จะจัดขึ้นในปีนี้ตลอด ระยะเวลาการจัดงาน อีกทั้งจะร่วมด้วยช่วยกันประชาสัมพันธ์เผยแพร่ เชิญชวน นักท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ การจัดงานและร่วมงาน ในครั้งนี้ ต่อไปด้วย
พ่อครูดิเรก สิทธิการ ครูภูมิปัญญาเครื่องเงิน กล่าวว่า หัตถกรรมเครื่องเงินเชียงใหม่ถือเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าในตัวเอง ทั้งในด้านรูปทรงและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์จากช่างฝีมือในพื้นที่ที่มีความรู้ความชำนาญและความประณีตพิเศษ จึงทำให้หัตถกรรมเครื่องเงินเชียงใหม่เป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่ของกลุ่มคนไทย และชาวต่างประเทศ แต่ด้วยปัจจุบันเงินราคาแพงจึงมีการนำแผ่นอะลูมิเนียมมาทดแทน ถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน และเป็นสินค้าที่เชิดหน้าชูตาของชาวบ้าน ไม่แพ้ผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน การถ่ายทอดองค์ความรู้และการอนุรักษ์ศิลปกรรมท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ ยุคใหม่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ มากกว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นแนวทางอันดีที่จะช่วยให้หัตถกรรมเครื่องเงินเชียงใหม่เป็นที่รู้จักมากขึ้น หากเราไม่ช่วยกันเผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ ภูมิปัญญาเหล่านี้คงสูญหายไปจากสังคมไทยอย่างแน่นอน
นายพงษ์ดนัย อะมัง ประธานจัดงาน ได้กล่าวถึงการจัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” ว่า ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีสำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา อันสืบเนื่องมากจากอดีตกาล ซึ่งการจัดงาน “จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ” ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมืองให้คนรุ่นหลังได้เห็นประเพณีและวัฒนธรรมอันล้ำค่าของบรรพชนในอดีต โดยผู้ที่มาเที่ยวชมงานจะได้สัมผัสบรรยากาศแบบล้านนาที่หาดูและจับต้องได้ยาก ซึ่งภายในงานครั้งนี้มีไฮไลท์ต่าง ๆ มากมาย ประกอบด้วย
•ประเพณีปักตุงก่อเจดีย์ทรายถวายพุทธปู่จา
•ร่วมสรงน้ำพระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ตลอดการจัดงาน วันที่ 12 – 18 เมษายน 2565
•พิธีแห่อัญเชิญน้ำสรง และผ้าห่มพระเจดีย์ วัดศรีสุพรรณ ประจำปี 2565 ประทานจากสมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก ในวันที่ 13 เมษายน 2565 ขบวนทางวัฒนธรรม ฟ้อนเล็บถวายเป็นพุทธบูชา 522 คน
•งานสมโภช แสงสีเสียง เล่าขานตำนานการสร้างบ้านแป๋งเมือง ตอน “522 ขวบปี๋ สะหลี๋ ศรีสุพรรณอาราม”
•พิธีบวงสรวง ไหว้สาป๋ารมี เปิดดวงมหาเศรษฐีพันล้าน โดย กองทุนนิธิท้าวเวสสุวรรณ วัดศรีสุพรรณ (วันที่ 16 เมษายน 2565)
•พิธีบวงสรวงไหว้เสื้อวัด และพิธีบวงสรวงพญาสัตตนาคราช ประจำปี 2565 (วันที่ 17 เมษายน 2565)
•พิธีไหว้ครูสล่าล้านนา และบวงสรวงไหว้องค์พระพิฆเนศทันใจ วัดศรีสุพรรณ ประจำปี 2565  (วันที่ 18 เมษายน 2565)
นอกจากนี้ผู้ที่มาเที่ยวงานยังได้ชมแสงสีเสียง ความวิจิตรของอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ อุโบสถเงินหลังแรกของโลก เคล้าคลอกับบรรยากาศปี๋ใหม่เมืองที่ประดับตกแต่งช่อตุง ซึ่งบัตรมีราคา 350 / 500 และ 1000 บาท สามารถติดซื้อบัตรรับชมได้ที่ วิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ เบอร์โทรศัพท์ 0 8067 89575, 0 9311 05449, 0 8067 42867 สามารถเลือกซื้อเครื่องเงินงาม ของกิ๋นลำ ภายในกาดหมั่วครัวเงินชุมชนวัดศรีสุพรรณ จึงอยากขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมสัมผัสบรรยากาศปี๋ใหม่เมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา สดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ดำรงไว้ซึ่งจารีต วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม ที่สืบสาน สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 18 เมษายน 2565 ณ วัดศรีสุพรรณจังหวัดเชียงใหม่ โดยสามารถดูรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเดิมผ่าน Facebook Fanpage : จุ้มสะหลี๋ปี๋ใหม่เมือง ไหว้สาป๋ารมี วัดศรีสุพรรณ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างประตูวัดศรีสุพรรณ
อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่นั้น ผู้จัดงานได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วในการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้มาชมงานตามมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ที่มามาร่วมงานได้เที่ยวชมงานเดินชมงานอย่างไร้กังวลตลอดการจัดงาน

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, ท่องเที่ยว, ที่เที่ยว, วัฒนธรรม, สังคม, เยาวชน
คำค้น: , , , , ,