คณะวิทยาลัยบริหารศาสตร์ ม.แม่โจ้ MOU ปางช้างแม่สา นำผลิตภัณฑ์ “คชาภัณฑ์” และปุ๋ยพลังช้าง ออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ของแม่โจ้

คณะวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่เดินหน้าพร้อมเซ็น MOU ร่วมกับปางช้างแม่สา เตรียมนำผลิตภัณฑ์ “คชาภัณฑ์” และปุ๋ยพลังช้าง ออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ของแม่โจ้

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องนรสิงห์ ตึกวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง อาจารย์ ดร.สุดเขต สกุลทอง ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วย ผศ.ดร.สถาพร แสงสุโพธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย, อาจารย์ ดร.สุชาดา สายธิ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยบริหารศาสตร์, อาจารย์ ดร.เกรียงไกร เจริญผล รองประธานหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต วบศ., อาจารย์ ดร.พิชญ์ จิตภักดี ผู้ช่วยคณบดี วบศ. ร่วมกับทีมงานปางช้างแม่สานำโดยนางอัญชลี กัลมาพิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปางช้างแม่สาจำกัด, นางรัตนา ศรีหมอก ผู้จัดการปางช้าง พร้อมด้วย ดร.สุมิตร อธิพรหม รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานและกิจการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้, นายทวีศักดิ์ อ่องศิริกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้ ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม โดยมีการหารือในหลายประเด็นที่สำคัญเพื่อนำไปทำบันทึกข้อตกลง(MOU) สร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าของมูลช้าง ด้วยการทำเป็นวัสดุอินทรีย์เพื่อการเพาะปลูกร่วมกับปางช้างแม่สา

ซึ่งในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาปางช้างแม่สาได้ทดลองผลิตปุ๋ยมูลช้างอินทรีย์ โดยจัดเก็บมูลช้างภายในปางได้มากถึงวันละ 5-6 ตัน จากการเลี้ยงช้างจำนวน 68 เชือก ด้วยหญ้าเนเปียเป็นอาหารหลักวันละ 10 ตัน และยังสามารถนำมูลช้างที่ได้นั้นไปผลิตเป็นกระดาษมูลช้างรักษ์โลก ซึ่งปราศจากสารเคมี เมื่อใช้แล้ว นำไปทิ้งก็ย่อยสลายได้ง่าย โดยปางช้างได้ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นกระถางต้นไม้ ขนาดเล็ก ซึ่งกระถางมูลช้างนี้จะได้นำไปทำเป็น Smart Pot เพื่อใส่ดินปลูก เติมปุ๋ยมูลช้างอินทรีย์และใส่เมล็ดพันธ์ุพืชต่างๆลงไป ทำการปิดฝา ด้วยใบไม้หรือกระดาษมูลช้าง เมื่อเปิดฝาและรดน้ำลงไปจะได้ต้นไม้ที่ค่อยๆเติบโตและมีความสมบูรณ์ แข็งแรง Smart Pot ทำให้ง่ายและเหมาะสมกับกิจกรรมการปลูกป่าทั่วประเทศ ลดการใช้พลาสติกใส่ต้นไม้ เมื่อทำสำเร็จจะเป็น Zero Waste คือการปลูกป่าแบบไร้ขยะ 100%

ส่วนการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ ยี่ห้อ”พลังช้าง”ให้กับเกษตรกร ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีที่ปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูงและยังเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีโครงการเพาะเชื้อเห็ดกับมูลช้าง การเลี้ยงไส้เดือนในมูลช้าง การเพาะเห็ดทำได้ง่ายๆโดยการผสมเชื้อเห็ดหลากหลายชนิดกับมูลช้าง และนำไปทำปุ๋ยอัดเม็ด ทำให้ง่ายต่อการใช้ และยังจะได้พัฒนาการเพาะเชื้อเห็ดที่มีราคาแพงอย่างเช่นเห็ดถอบ ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญในการงดเผาป่าเพื่อให้ได้มาซึ่งเห็ดถอบ การวิจัยนี้จะทำให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานเห็ดถอบที่ได้จากการเพาะ สามารถผลิตได้ในปริมาณมากและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ที่ประชุมพยายามหาข้อสรุปในความต้องการของแต่ละฝ่ายเพื่อนำไปร่างเป็นข้อตกลงร่วมกันทางวิชาการ โดยจะเน้นไปที่การส่งเสริมงานอนุรักษ์ช้างไทย ช่วยคน ช่วยชุมชนรักษาป่า สร้างแหล่งเรียนรู้ร่วมกันโดยมีกำหนดระยะเวลาที่จะเซ็นเอกสาร MOU ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งทางปางช้างแม่สาต้องการผลิต

1. ปุ๋ยอินทรีย์พลังช้าง จำนวน 4 สูตร ในรูปแบบปุ๋ยสด ปุ๋ยผง และปุ๋ยอัดเม็ด

2. ดินปลูกพลังช้าง

3. ปุ๋ยมูลช้างที่มีเชื้อเห็ด

4. Smart Pot กระถางพร้อมปลูก

โดยจะต้องทำการขออนุญาตผลิตปุ๋ยมูลช้างอินทรีย์ให้ถูกต้อง และขออนุญาตตั้งโรงงานอย่างถูกกฏหมาย โดยมหาวิทยาลัยฯจะทำการตรวจธาตุอาหารในปุ๋ยเพื่อให้การรับรองมาตรฐานโครงการทั้งหมดนี้จะเป็นการบริหารงานร่วมกันระหว่างปางช้างแม่สา หรือ ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การเกษตร, สังคม, สิ่งแวดล้อม
คำค้น: , , , , , ,